โรคหลอดเลือดสมอง(STROKE) รู้ก่อนคือรอดดด!!
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง
(stroke)
คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ
หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก โดยส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย
การทำงานของสมองหยุดชะงัก
โดยความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด
แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke)
เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง
และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง
ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง
2. หลอดเลือดสมองแตก(hemorrhagic
stroke)
พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง
เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง
ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง
ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง
1.
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
1.1
อายุ เมื่ออายุมากขึ้น
หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ
รูที่เลือดไหลผ่านก็จะแคบลงเรื่อยๆ
1.2 เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
1.3
ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ
ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
2.
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
2.1 ความดันโลหิตสูง
เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ
2.2 เบาหวาน
เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย
หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
2.3 ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
โดยจะมีภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
2.4 การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง
และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง
3.5%
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
ซึ่งอาการแสดงต่างๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย
เช่น ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าและ/หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย พูดไม่ชัด
ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด ตามัว
มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด เดินเซ ทรงตัวลำบาก
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว
อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง
หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร
ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์
ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพต่อไป
โดยสามารถสังเกตุอาการเบื้องต้น โดยใช้ F.A.S.T.
1. F: Face ใบหน้า ให้ยิงฟันหรือยิ้ม โดยสังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยว รวมไปถึงอาการมุมปากตก หรือไม่
2. A: Arm แขน ให้ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นขนานกับพื้น หงายฝ่ามือและสังเกตว่ามีแขนข้างใดข้างหนึ่งตกรวมไปถึงยกไม่ขึ้น หรือไม่
3. S: Speech การพูด ให้ลองพูดประโยคง่ายๆ
ซ้ำๆ เช่น การนับเลข และสังเกตว่ามีอาการพูดไม่ชัด รวมไปถึงอาการออกเสียงเพี้ยน
หรือไม่
4. T: Time เวลา หากพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
และการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก
โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
โดยปกติทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี
ซึ่งจะเน้นไปที่การทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด
ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองและรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน
4-5 ชั่วโมง
2. หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด
โดยจะเน้นไปที่
การควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก
แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต
อย่างไรก็ตามการป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด
โดยสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
1. ตรวจเช็กสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง
ถ้าพบต้องรีบรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
2.
ในกรณีที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก
ต้องรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง
และควรรีบพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ
3.
ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมปถึงการควบคุมอาหารให้สมดุล
หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน
4.
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3
ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้
เหมาะสม
5.
ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว
ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ
Comments
Post a Comment